วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กล่องแต่งคอมมอนเรล กล่องเพิ่มแรงม้า กล่องเพิ่มแรงบิด

   เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบให้ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ECU การที่เราจะทำให้เครื่องยนต์ของเรามีสมรรถนะที่ดีขึ้น นอกจากการเปลี่ยนอุปกรณ์บางตัว หรือจะไม่เปลี่ยนก็ตาม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล้่านี้.

  "กล่องแต่ง" มีหลากหลายประเภทหลายยี่ห้อ ทำออกมาโดยวัตถุประสงค์คือ เพิ่มกำลังและสมรรถนะของเครื่องยนต์โดยอาศัยการแปลงสัญญาณหรือโปรแกรมทางอิเลคทรอนิกส์ให้มีค่าต่างไปจากโปรแกรมเดิมของโรงงาน ซึ่งมีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ แล้วแต่ว่าออกแบบมาให้ไปควบคุมส่วนไหน ทำให้เครื่องยนต์มีกำลังมากขึ้น แรงขึ้น ส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่พ้นการเพิ่ม ปริมาณแรงดันในระบบการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ อันได้แก่อากาศ และ/หรือน้ำมันเชื้อเพลิง (ถ้าในเครื่องยนต์เบนซินก็จะมีส่วนที่เกี่ยวกับระบบไฟจุดระเบิดด้วย)

- กล่องดันราง คือ การเพิ่มแรงดันในระบบคอมมอนเรล ซึ่งทำได้โดยการแปลงสัญญาณ ECU ที่ควบคุมในส่วนของปั๊มเชื้อเพลิงให้ปั๊มสร้างแรงดันในระบบที่สูงขึ้นกว่าเดิม

- กล่องยกหัวฉีด คือ การแปลงสัญญาณขยายระยะเวลาในการยกตัวของเข็มหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ฉีดได้ในปริมาณที่มากขึ้นใน 1 จังหวะการทำงาน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงตามต้องการได้

- การปลดบูสท์ คือ การปลดล็อคสัญญาณการตรวจจับแรงดันอากาศในท่อร่วมไอดี ให้สามารถทำแรงดันได้เกินค่าที่กำหนดโดยที่เครื่องไม่ถูกสั่งตัดเชื้อเพลิง

- การปลดล็อคความเร็ว คือ การปลดล็อคสัญญาณลิมิตของความเร็วรถให้วิ่งได้เกินค่าที่โรงงานล็อคเอาไว้

- การปลดล็อคคันเร่งไฟฟ้า คือ การแปลงสัญญาณของตัวคันเร่งไฟฟ้า ให้ตอบสนองได้ไวขึ้น มีการหน่วงน้อยลงหรือไม่มีเลย

- การสร้างกล่องควบคุมเครื่องยนต์ขึ้นมาใหม่ (Stand Alone) วิธีนี้คือการใช้กล่องแต่งแบบที่สามารถควบคุมได้ทุกส่วนของเครื่องยนต์มาควบคุมแทนกล่องโรงงานล้วนๆ ส่วนมากนิยมใช้ในการแข่งขัน
   กล่องแต่งที่เราเห็นกันหลายยี่ห้อ หลายแบบ ก็มีทั้งทำออกมาแบบกล่องเดียวครบวงจร หรือมีหลายฟังก์ชั่น หรืออย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ และส่วนมากแล้วการออกแบบโปรแกรมของผู้ผลิตกล่องแต่ละค่าย ต่างก็ทำให้สามารถทำการเซ็ทค่าของโปรแกรมให้แตกต่างกันไปได้ตามแต่ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งทั้งลูกค้าและผู้ติดตั้งกล่องหรือเรียกกันว่า "มือจูน" ต้องเลือกใช้กล่องแต่งและโปรแกรมการจูนให้เหมาะสมกับการใช้งาน และอุปกรณ์ที่ไปติดตั้งเพิ่มหรือเปลี่ยนใหม่อย่างที่กล่าวมาข้างต้นครับ เพื่อให้การทำงานของเครื่องยนต์แรง และสเถียร สมบูรณ์ที่สุด.

ข้อมูลลึกๆ

  การดันราง คือ การเพิ่มแรงดันในระบบฉีดจ่ายน้ำมันแบบคอมมอนเรล หรือภาษาไทยๆเรียกว่า แบบรางฉีดร่วม ซึ่งโดยปกติ ปั๊มคอมมอนเรลจะมีหน้าที่ปั่นและอัดส่งสร้างน้ำมันที่มีแรงดันสูงมากๆไปยังรางคอมมอนเรลเพื่อรอจ่ายน้ำมันไปยังหัวฉีด ซึ่งเมื่อทำการติดตั้งกล่องดันรางเข้าไป กล่องตัวนี้จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้ปั๊มสร้างแรงอัดน้ำมันได้สูงขึ้นกว่าเดิม แรงดันในระบบจึงสูงขึ้น ฉีดน้ำมันได้แรงกว่าเดิม การเผาไหม้จึงดีขึ้น ส่งผลให้รถแรงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้จ่ายน้ำมันมากขึ้น เพราะหัวฉีดก็ยังคงฉีดจ่ายน้ำมันเป็นปริมาณเท่าเดิม ใน 1 จังหวะรอบการทำงาน แต่เมื่อรถมีกำลังมากขึ้น ทั้งแรงม้าและแรงบิดจากการดันรางนี้ เมื่อเราขับขี่ในสไตล์เดิม ที่ความเร็วเท่าๆเดิม จะได้ความประหยัดมากกว่าเพราะแรงบิดรถดีขึ้น อัตราเร่งทำได้ดีกว่าเดิม จึงไม่ต้องเค้นคันเร่งมาก.

ประโยชน์ของการดันราง
1. เพิ่มแรงม้า ขั้นต่ำ 30 ตัวขึ้นไป และแรงบิด ขั้นต่ำ 30% ขึ้นไป แล้วแต่ระดับการจูน และการเสริมชิมท้ายราง เช่น 2-5 มิล หรืออุดท้ายราง (อุดท้ายรางแรงม้าเพิ่มขึ้น 60 ตัวขึ้นไปแน่นอน)
2. ประหยัดน้ำมันขึ้น ถ้าผู้ขับขี่ขับขี่ในสไตล์รถเดิม ไม่กระแทกคันเร่งแรงๆ และจะประหยัดขึ้นมากถ้าผู้ขับขี่เปลี่ยนเกียร์สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์
3. รถมีกำลังแรงบิดมากขึ้นกว่าเดิม เหมาะสำหรับพวกบรรทุกหนักๆ
4. ลดการรอรอบอย่างเห็นได้ชัด
5. เพิ่มความเร็วปลาย เช่น รถเดิมวิ่ง 160กม./ชม. หลังจากการปรับจูนแล้ว 180-200กม./ชม. หรืออาจมากกว่า (อยู่ที่ระดับการจูน)

ข้อเสียของการดันราง
1. การปรับแต่งรถใดๆก็แล้วแต่ย่อมทำให้เกิดการสึกหรอที่มากขึ้น (ขึ้นอยู่ระดับการจูนว่ามากน้อยเพียงใด และระดับการขับขี่)
2. จะเปลืองน้ำมันขึ้น ถ้าผู้ขับขี่ กระแทกคันเร่งบ่อยๆ และใช้ความเร็วสูง เช่น นำไปแข่งขัน 

  การทำท้ายราง หรือ เสริมชิมท้ายราง เมื่อติดตั้งกล่องดันราง ผู้ติดตั้งนิยมมีการทำท้ายรางเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้แมตซ์กับแรงดันที่ปรับจูน ทำให้สามารถจูนแรงดันได้มากขึ้นกว่าเดิม ป้องกันปัญหาไฟโชว์ ป้องกันเครื่องสะดุดเมื่อรอบสูงๆ
  ท้ายราง คือ อุปกรณ์ตัวนึงที่เป็นตัวลิมิตแรงดันในระบบอยู่ตรงด้านท้ายของรางคอมมอนเรล หลักการทำงานคือสปริงพร้อมลิ้นระบายแรงดัน (Pressure Regulator) ทำหน้าที่คอยระบายแรงดันในรางคอมมอนเรลที่เกินค่าที่กำหนดให้ไหลกลับ ซึ่งทำได้โดยการใส่ชิมรองเข้าไปที่สปริง ทำให้สปริงมีค่าแข็งขึ้น แรงดันระบายออกได้ช้าลง ทำให้การสร้างแรงดันในรอบสูงๆ ไม่มีปัญหาเครื่องสะดุดครับ
ส่วนเรื่องรางแตกนั้น โดยทั่วๆไป เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะรางคอมมอนเรลมีค่า Factor เผื่อมาให้รับแรงดันได้สูงกว่าสเปคโรงงานเยอะมาก เว้นแต่จะมีการ"อุด"ท้ายรางแบบถาวร ซึ่งนิยมทำกันในรถแข่งสนาม โดยเฉพาะประเภท Drag เพราะพวกนี้ เขาจะใช้กล่องโมดิฟายใบเดียวคุมแทนกล่องเดิมของเครื่องยนต์ หรือที่เรียกว่า "Stand Alone" สำหรับรถบ้าน สบายใจได้ จะมีก็แต่กรณีท้ายรางรั่วซึ่งเกิดจากผู้ติดตั้งในบางรายติดตั้งไม่ดีเท่านั้นเอง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก โดยทำการถอดและใส่เข้าไปใหม่โดยช่างที่มีความชำนาญ

  กล่องยกหัวฉีด (Lift Injection) หลักการทำงานของกล่องเพิ่มแรงม้าแบบยกหัวฉีด สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล มีหลักการทำงานโดยการใช้กล่องอิเลคโทรนิค รับสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากกล่องควบคุมสมองกลของรถ ECU ที่ส่งไปยังหัวฉีดจ่ายน้ำมันเข้าแต่ละหัว แล้วแปลงค่าสัญญาณนั้น เพื่อสั่งให้หัวฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมีระยะเวลาจ่ายน้ำมันให้นานขึ้น ตามจังหวะเวลาและรอบเครื่องยนต์ที่ต้องการ มีทำผลให้เครื่องยนต์ได้รับเชื้อเพลิงที่เพียงพอสำหรับการทำงานที่รอบสูงๆ หรือที่ความเร็วสูง เครื่องยนต์จึงมีแรงม้าเพิ่มขึ้น มีแรงบิดเพิ่มขึ้น ทำให้รถยนต์สามารถมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น และมีความเร็วปลายสูงขึ้นด้วย หรืออธิบายแบบง่ายๆ คือ เพิ่มระยะเวลาในการฉีดน้ำมันแต่ละรอบเครื่องให้นานขึ้น เช่น สมมุติว่า 1รอบเครื่อง ฉีดน้ำมัน 1วินาที อาจจะเพิ่มเป็น 1.2 1.5 หรือ 2วินาที ทำให้เพียงพอต่อความต้องการ และถ้ารถยนต์ได้มีการปรับแต่งระบบอัดอากาศ หรือเปลี่ยนเทอร์โบ ที่อัดลมเข้าสู่ห้องเครื่องได้มากกว่าเดิม เช่น ของเดิม 1บาร์ หรือ14ปอนด์ แต่ได้ทำการเปลี่ยน เทอร์โบ td05h ทำลมอัดเข้าห้องเครื่องที่ 25ปอนด์ ทำให้น้ำมันจากกล่อง ecu เดิมจ่ายน้ำมันไม่เพียงพอต่ออากาศ จึงต้องเสริมกล่องยกหัวฉีดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำมันให้เพียงพอต่ออากาศที่เพิ่มขึ้น

ประโยชน์ของกล่องยกหัวฉีด
1. เพิ่มแรงม้า ขั้นต่ำ 40 ตัวขึ้นไป และแรงบิด ขั้นต่ำ 50% ขึ้นไป (แล้วแต่ระดับการจูน)
2. กล่องยกหัวฉีด จะเห็นผลกว่า กล่องดันราง (แต่ถ้าทำงานร่วมกันระหว่างกล่องดันราง และกล่องยกหัวฉีด ทำให้เห็นผลชัดเจนมากขึ้น)
3. รถมีกำลังแรงบิดมากขึ้นกว่าเดิม เหมาะสำหรับพวกบรรทุกหนักๆ
4. ลดการรอรอบอย่างเห็นได้ชัด
5. เพิ่มความเร็วปลาย เช่น รถเดิมวิ่ง 160กม./ชม. หลังจากการปรับจูนแล้ว 180-200กม./ชม หรืออาจมากกว่า (อยู่ที่ระดับการจูน)
6. ในบรรดาการปรับแต่งให้รถมีพละกำลังที่เพิ่มขึ้น กล่องยกหัวฉีดเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะว่าผลที่ได้ชัดเจน และการสึกหรอของเครื่องยนต์น้อยกว่าการทำอื่นๆ
7. มีสวิทซ์ ปิด-เปิด (บางยี่ห้อ) ทำให้สามารถปิดการใช้งานได้ ทำให้เป็นรถเดิมๆ  และสามารถเปิดใช้งานได้ทันทีขณะขับรถอยู่ก็ตาม (บางยี่ห้อ)

ข้อเสียของกล่องยกหัวฉีด
1. กล่องยกหัวฉีดจะมีราคาค้อนข้างสูงถ้าเปรียบเทียบกับกล่องชนิดอื่นๆ
2. การปรับแต่งรถใดๆก็แล้วแต่ย่อมทำให้เกิดการสึกหรอที่มากขึ้น แต่กล่องยกหัวฉีดการสึกหรอของเครื่องยนต์จะน้อยกว่ากล่องชนิดอื่นๆ (ขึ้นอยู่ระดับการจูนว่ามากน้อยเพียงใด และระดับการขับขี่)

ไม่มีความคิดเห็น:

ข่าวขอนแก่น